หลายคนทราบดีว่า การเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การเก็บเงินเพื่อรับดอกเบี้ยเงินฝากเพียงอย่างเดียวก็ยังเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อนับวันมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการเอาชนะเงินเฟ้อเพื่อให้มีความมั่นคงทางการเงิน จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนควบคู่ไปด้วย ซึ่งการลงทุนก็มีความเสี่ยงหลากหลายระดับแตกต่างกันไป มีทั้งกองทุน ตลาดหุ้น ไปจนถึงการลงทุนทำธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งการลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลาในการศึกษาทำความเข้าใจพอสมควร ซึ่งหากใครที่ไม่มีเวลามากพอหรือยังไม่เชี่ยวชาญในการเลือกลงทุนเอง กองทุนความเสี่ยงต่ำก็เป็นอีกรูปแบบการลงทุนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกับนักลงทุนที่ต้องการพักเงินไว้ระยะสั้นโดยไม่ต้องกังวลว่าเงินต้นจะหายไป แบบการลงทุนในหุ้น

แม้เป็นกองทุนความเสี่ยงต่ำ ก็ต้องทราบถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเช่นกัน

กองทุนความเสี่ยงต่ำมีความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้นน้อยกว่า เนื่องจากมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ซับซ้อนเหมือนกองทุนความเสี่ยงสูง สินทรัพย์ที่ลงทุนส่วนใหญ่ มักเป็นสินทรัพย์ประเภทตาสารหนี้เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนจำเป็นต้องเข้าใจปัจจัยที่ทำให้การลงทุนในกองทุนรวมเกิดความเสี่ยง แม้จะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ การเข้าใจปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จะช่วยให้บริหารจัดการสินทรัพย์ได้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนของตัวเองมากยิ่งขึ้น

กองทุนความเสี่ยงต่ำ
  1. ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ยมีความผันผวนทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ขึ้นอยู่นโยบายด้านการเงินที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายการเงิน เช่น ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และอื่น ๆ ส่งผลให้กองทุนความเสี่ยงต่ำได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ราคาของกองทุนและสินทรัพย์ที่ลงทุนเปลี่ยนแปลงได้

  1. ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ

กองทุนรวมต่าง ๆ เกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนนำเงินมารวมกันเป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่ หลังจากนั้นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะนำไปจดทะเบียนให้อยู่ภายใต้การบริหารของผู้จัดการกองทุน โดยผู้จัดการกองทุนนี่เองที่เป็นผู้นำไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ตามนโยบายของกองทุน ดังนั้นกองทุนจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด จะขึ้นอยู่กับการบริหารของกองทุน หรือบริษัทที่กองทุนนั้น ๆ นำเงินไปร่วมลงทุน ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษานโยบายและผลประกอบการของกองทุนต่าง ๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจ

  1. ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้

กองทุนความเสี่ยงต่ำยังมีโอกาสขาดทุนจากการผิดนัดชำระหนี้ได้ หากบริษัทที่กองทุนเข้าไปลงทุนไม่สามารถจ่ายเงินคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขต่าง ๆ แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยก็ตาม แต่ผู้ลงทุนควรศึกษาทำความเข้าใจนโยบายการลงทุนให้ดีก่อนลงทุนเสมอ หากเป็นระดับความเสี่ยงที่รับได้ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนหรือสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่มากจนเกินไป

ระดับความเสี่ยงของกองทุน เสี่ยงระดับใดจึงเป็นกองทุนความเสี่ยงต่ำ

ระดับความเสี่ยงของกองทุนสามารถแบ่งออกได้เป็น 8 ระดับ ตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำมาก ระดับความเสี่ยงปานกลาง ไปจนถึงระดับที่มีความเสี่ยงสูงมาก กองทุนความเสี่ยงต่ำจะต้องอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 4 ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน โดยประเภทการลงทุนของกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงระดับต่ำ ได้แก่ 

  • กองทุนรวมตลาดเงิน (สภาพคล่องสูง ขายคืนหน่วยลงทุนได้ตลอดเวลา)
  • กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุตราสารหนี้ไม่เกิน 1 ปี ความผันผวนน้อย)
  • กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล (โอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก)
  • กองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป (การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่มีความเสี่ยงต่ำ)

และหากคุณเป็นนักลงทุนที่ต้องการจัดสรรพอร์ตด้วยกองทุนความเสี่ยงต่ำ ขอแนะนำกองทุนเปิดกรุงศรีสมาร์ทตราสารหนี้-สะสมมูลค่า (KFSMART-A) ที่มีระดับความเสี่ยงที่ระดับ 4 คือปานกลางค่อนข้างต่ำ กองทุนนี้เปิดโอกาสให้คุณได้ร่วมลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้เอกชน โดยมีการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้สูงถึง 90% ของจำนวนเงินที่ได้นำไปลงทุนในต่างประเทศ และไม่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนที่สนใจบริหารจัดการพอร์ตที่มีความเสี่ยงลดลง ทั้งนี้ควรศึกษานโยบายการลงทุนและรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ก่อนการลงทุนเสมอ